มาทำความเข้าใจเทคโนโลยี blockchain กัน เพื่อป้องกันความสับสน (ตอนที่4)
จากบทความตอนที่แล้ว ได้เล่าถึงค่ายแรกของ blockchain คือ Hyperledger ไปบ้างแล้ว เนื่องจาก Hyperledger framework ในเวลานี้ มีทั้งหมด 5 โปรเจค ผ่านไปแล้วสาม ก็มาเล่าต่อกันเลยใน 2โปรเจคที่เหลือ
โปรเจคที่ 4 ชื่อ Iroha เป็นโปรเจคที่พัฒนามาจากกลุ่มบริษัททางประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Soramitsu, Hitachi, NTT Data และ Colu โดยพัฒนาขึ้นด้วยภาษา C++ และตั้งใจเน้นไปใช้งานผ่านบนมือถือ เนื่องจากเน้นการรองรับข้อมูลขนาดเล็กเป็นหลัก โดยมี consensus อัลกอริทึม แบบ chain-based BFT ที่ชื่อ Sumeragi สำหรับการนำไปใช้ยังไม่เป็นที่กว้างขวางมากเท่าไร ส่วนใหญ่จะอยู่ในญี่ปุ่น ที่เห็นนอกญี่ปุ่นก็มีที่ธนาคารแห่งชาติของประเทศกัมพูชา ที่ร่วมพัฒนาระบบชำระเงินของประเทศกับทางบริษัท Soramitsu
โปรเจคสุดท้าย คือ Indy เป็นโปรเจคที่เกิดขึ้นจาก กลุ่มองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ที่ชื่อ The Sovrin Foundation โดยตั้งใจออกแบบ blockchain มาใช้สำหรับเรื่อง digital identity โดยเฉพาะ หลายคนอาจคิดว่ามีการสร้างฐานข้อมูลกลางใน blockchain มาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรา แต่วิธีการไม่ใช่แบบนั้น เป็นกระบวนการที่ตัวเราเป็นคนกำหนดการให้ข้อมูลส่วนตัวของเรากับหน่วยงานหรือบริษัทที่เราต้องทำธุรกรรมด้วย โดยที่เราเป็นคนขอให้หน่วยงานที่เคยมีประวัติของเราอยู่เป็นฝ่ายช่วยยืนยันให้ นอกจาก Hyperledger แล้ว blockchain ค่าย R3 Corda ซึ่งเป็นค่าย private blockchain อีกค่ายหนึ่ง ก็ให้การสนับสนุน Sovrin เช่นเดียวกัน สำหรับ digital identity ถือเป็น use case หนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับการนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ โดยผู้เขียนตั้งใจจะเล่าเป็นบทความเฉพาะสำหรับเรื่องนี้ ไว้คอยติดตามกัน เนื่องจากประเทศไทยเริ่มมีนโยบายจะทำ digital identity แห่งชาติขึ้นมา ก็ไม่แน่ใจสุดท้ายจะไปลงที่ blockchain framework ค่ายไหนเหมือนกัน ต้องไว้คอยดูกัน
ค่ายต่อมาซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของ Hyperledger ก็คือ Ethereum แต่คงไม่ได้หมายถึง Ethereum ที่เป็น public blockchain แต่พูดถึง private Ethereum ความได้เปรียบของ Ethereum อยู่ที่กลุ่มผู้พัฒนา Ethereum ในตลาดที่มีมากกว่าค่าย Hyperledger เนื่องด้วยการที่ Ethereum เป็นที่รู้จักในตลาดก่อน ปัจจุบันเริ่มมีหลายบริษัท นำ Ethereum มาพัฒนาใช้เป็น private blockchain กันพอสมควรแล้ว ที่สำคัญคือการจัดตั้งกลุ่ม Enterprise Ethereum Alliance(EEA) ที่ได้เกริ่นไว้ตั้งแต่บทความแรก ถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งในการแข่งกับค่าย Hyperledger ถึงอย่างไรในเวลานี้ กลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ใช้ Ethereum ยังค่อนข้างเป็น public blockchain private Ethereum ก็ไม่ใช่มีแค่ framework เดียวให้เราใช้เช่นกัน ที่เห็นมาแล้วก็คือ Hyperledger Burrow ที่ผลักดันโดยบริษัท Monax ลองมาดู framework ที่เป็นที่พอรู้จักกันอย่างอื่นมีอะไรอีกบ้าง
เริ่มต้นก็คงเป็น Quorum ของทาง JP Morgan ค่ายนี้ได้กล่าวถึงไปบ้างแล้วตั้งแต่บทความแรก ก็ถือโอกาสให้รายละเอียดเพิ่มเติม Quorum ถูกพัฒนาด้วยภาษา Go ส่วนสำหรับ consensus อัลกอริทึมที่ใช้ เรียกว่า QuorumChain ซึ่งก็อยู่ในรูปแบบ BFT มีการพูดถึงการรองรับ consensus ที่ชื่อว่า Raft ด้วยเช่นกัน โดยมีความสามารถรองรับ throughput ที่สูงกว่า แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนนำไปใช้จริง ช่วงปีที่แล้ว Quorum ได้จับมือกับสกุลเงินดิจิตอลที่ชื่อว่า zcash ที่ออกแบบมุ่งเน้นเรื่องความเป็นส่วนตัว(privacy) ระหว่างการทำทรานแซคชัน โดยอยู่ในรูปแบบความปลอดภัย ที่เรียกว่า zero-knowledge settlement layer(ZSL) โดยตั้งใจใช้ในการกำหนด smart contract ใน public blockchain และนำมาเชื่อมโยงกับ private smart contract ของ Quorum ที่ชื่อว่า Constellation ทางค่าย Quorum ปัจจุบันมุ่งเน้นการนำไปใช้เฉพาะธุรกิจด้านการเงินเป็นหลัก
ค่ายถัดไปไว้ต่อในบทความหน้า ซึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่มสุดท้ายของ private blockchain ที่จะแนะนำให้รู้จักไว้