top of page

มาเรียนรู้ทำความเข้าใจ DevOps กัน (ตอนที่ 2)

มารู้จักค่านิยมหลัก(Core Values) ของ DevOps ที่เรียกว่า CA(L)MS Model

Image from DevOps 101 Red Gate Software

ค่านิยมหลัก เป็น คุณลักษณะและบรรทัดฐานที่เป็นลักษณะเฉพาะขององค์กรนั้นๆ และส่งผลต่อพฤติกรรม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประพฤติและปฏิบัติของพนักงานในองค์กร ค่านิยมจะใช้เป็นตัวสะท้อนหรือมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมขององค์กร นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์พันธกิจขององค์กร เนื่องด้วย DevOps เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับการปรับวัฒนธรรมองค์กร และมีผลกับพฤติกรรมการทำงานร่วมกันของกลุ่มบุคลากรในองค์กรที่ต้องมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการสร้างค่านิยมหลักขึ้นมา เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดทิศทางสำหรับองค์กรที่นำ DevOps มาปรับใช้

คนที่ริเริ่มสร้าง ค่านิยมของ DevOps ขึ้นมาคือ Damon Edwards และ John Willis ซึ่งถือเป็นกลุ่มต้นๆที่บุกเบิกเรื่อง DevOps โดยสร้างค่านิยมที่เรียกว่า CAMS ขึ้นมา ในปี 2010 เรามาทำความรู้จัก CAMS model กันว่าคือค่านิยมอะไรบ้าง

ตัวอักษรแรก C คือ Culture การสร้างวัฒนธรรมการทำงานในองค์กร ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะปรับเปลี่ยนได้ต้องเกิดจากพฤติกรรมที่นำมาสู่การปฏิบัติของทีมทำงาน โดยอาจมีการนำเทคนิค รูปแบบ หรือวิธีการต่างๆมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แล้วกำหนดเป็นข้อตกลงร่วมกัน สิ่งที่พึงระวังคือ แต่ละองค์กรมักมีลักษณะเฉพาะ บางทีวิธีการบางอย่างที่อาจจะใช้ได้ดีกับองค์กรหนึ่ง อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้กับอีกองค์กร ดังนั้นควรจะเข้าใจถึงสาเหตุของการนำวิธีการแต่ละอย่างมาประยุกต์ใช้ เพื่อกำหนดว่าองค์กรประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือไม่ เพื่อนำมาปรับใช้ได้อย่างถูกต้อง

ตัวที่สอง A คือ Automation โปรแกรมที่ทำงานโดยอัติโนมัติ ซึ่งเป็นการใช้ความสามารถของระบบไอทีในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน โดยพยายามเพิ่มความเร็วของการไหลของข้อมูลเมื่อมีการส่งต่องาน โดยให้ใช้เวลาน้อยที่สุดและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่มักเกิดจากคนทำงาน ตัวอย่างวิธีการที่ถูกนำมาใช้ เช่น Infrastructure as code หรือ การสร้าง continuous delivery pipeline เป็นต้น รายละเอียดของวิธีการที่กล่าวถึงนี้ ไว้เล่าสู่กันในบทความตอนถัดๆไป

ตัวที่สาม M คือ Measurement การวัดผล ในแต่ละขั้นตอนของงานที่ทำต้องสามารถนำมาประเมินผลลัพธ์ได้ ซึ่งมีความจำเป็นมาก โดยข้อมูลที่ได้จากการวัดผล จะถูกนำมาใช้ในการตัดสินใจ เพื่อปรับปรุงขั้นตอนหรือแก้ปัญหางานบางอย่างที่ขาดประสิทธิภาพ โดยจะมีความน่าเชื่อถือกว่า ความคิดเห็น ซึ่งมักนำมาสู่ข้อโต้แย้งระหว่างทีมทำงาน

ตัวที่สี่ S คือ Sharing การแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดใหม่ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือประสบการณ์ ถือว่าเป็นกระบวนการสร้างหรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้เกิดร่วมกันระหว่างทีมทำงาน เพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจในการสื่อสารกัน สร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในเวลาถัดมา Jez Humble กูรู DevOps อีกคน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่แนะนำว่าควรหยิบมาอ่านคือ Continuous Delivery ได้เพิ่มตัวอักษรตัวที่ 5 เข้าไป ได้แก่ ตัว L คือ Lean ทำให้เกิดเป็น CALMS model ขึ้นมา

ตัวที่ห้า L คือ Lean การจัดการความสูญเปล่า(waste)ของกระบวนการทำงาน ซึ่งเป็นวิธีการที่นำมาจากทางบริษัท Toyota ของประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต มาประยุกต์ใช้กับกระบวนการทางด้านไอที นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการผลิตที่ยึดจากคุณค่าของผู้ใช้ (User Value) เป็นหลัก กระบวนการนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ DevOps ในปัจจุบันนี้

ปัจจุบัน CALMS model สามารถนำมาใช้ในการประเมิน(assess) ระดับความสามารถ, ความพร้อม, ความก้าวหน้า ของแต่ละองค์กร (maturity model) ในการนำ DevOps เข้ามาใช้ โดยประเมินใน 5 แกนหลักซึ่งยึดตามค่านิยมหลักที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

bottom of page